10 ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการแปลภาษา PASA24 6 แชร์ ความผิดพลาดในการแปลอาจส่งผลให้ความหมายของข้อความผิดเพี้ยน สื่อสารผิดพลาด หรือในบางกรณีอาจสร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะในเอกสารทางธุรกิจ เอกสารด้านกฎหมาย หรือคู่มือการใช้งาน บทความนี้จะพาไปสำรวจ 10 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการแปลภาษา เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดพร้อมให้งานแปลมีคุณภาพและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสารบัญเนื้อหา10 ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการแปลภาษา 1. การแปลตรงตัวมากเกินไป 2. แปลโดยไม่เข้าใจบริบท 3. ไม่คำนึงถึงโครงสร้างประโยค 4. ไม่เข้าใจวัฒนธรรม 5. แปลผิดความหมาย 6. การพิมพ์ผิดและแปลตกหล่น 7. ใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่ถูกต้อง 8. ใช้คำฟุ่มเฟือย 9. ไม่คำนึงถึงรูปแบบภาษาทางการและไม่เป็นทางการ 10.ไม่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งมอบงาน 10 ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการแปลภาษาการแปลภาษาเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความแม่นยำ ถูกต้อง และความเข้าใจในบริบทของภาษาปลายทางและต้นทาง หากไม่ใส่ใจในงานแปล หรือไม่ระมัดระวัง ความผิดพลาดในการแปลอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนักแปลมืออาชีพหรือนักแปลใหม่ และนี่คือ 10 ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการแปลภาษา1. การแปลตรงตัวมากเกินไปการแปลแบบคำต่อคำ หรือที่รู้จักกันดีคือการแปลแบบตรงตัว โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างประโยคและบริบทของเนื้อหา ส่งผลให้ข้อความอ่านไม่ลื่นไหล และความหมายผิดเพี้ยนได้ ดังนั้นหลักการแปลภาษาที่ดีและถูกต้องคือต้องทำความเข้าใจบริบทและความหมายโดยรวมของประโยคทั้งหมดก่อน จากนั้นทำการแปลโดยเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับภาษาปลายทาง2. แปลโดยไม่เข้าใจบริบทการแปลที่ดีต้องคำนึงถึงบริบทของต้นฉบับเสมอหากนักแปลไม่เข้าใจบริบท อาจสื่อความหมายของงานแปลผิดได้ ที่สำคัญคือคำศัพท์บางคำนั้นมีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับบริบท ดังนั้นนักแปลต้องทำการอ่านเนื้อหาต้นฉบับที่จะแปลให้เข้าใจเสียก่อน พร้อมหาข้อมูลคำศัพท์ที่ไม่ชัดเจน เพราะการอ่านเนื้อหาทั้งหมดก่อนแปลจะช่วยให้งานแปลมีความถูกต้อง หรือหากเนื้อหาเยอะ ให้ทำการอ่านทีละพารากราฟเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาบริบทของงานก่อนทุกครั้ง การทำแบบนี้จะลดปัญหาเรื่องการเลือกใช้คำผิดได้เป็นอย่างดี3. ไม่คำนึงถึงโครงสร้างประโยคแน่นอนว่าโครงสร้างประโยคในแต่ละภาษามีความแตกต่างกัน นักแปลจะไม่สามารถแปลโดยใช้โครงสร้างของภาษาต้นฉบับได้ หากแปลโดยใช้โครงสร้างตามต้นฉบับมากเกินไป อาจทำให้ข้อความอ่านแล้วแปลก หรือเข้าใจยาก และปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบบ่อยในงานแปล ดังนั้นแล้วนักแปลต้องเข้าใจโครงสร้างภาษาของภาษาต้นฉบับและภาษาปลายทางให้เป็นอย่างดี เพื่อให้งานแปลดูเหมือนแปลโดยนักแปล Native และถูกหลักไวยากรณ์4. ไม่เข้าใจวัฒนธรรมภาษามักจะสะท้อนขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมของสังคมนั้น ๆ หากนักแปลไม่เข้าใจวัฒนธรรมของภาษาต้นฉบับและภาษาปลายทางให้ดีพอ งานแปลที่ออกมาอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกแปลก หรือในบางกรณีอาจเกิดความเข้าใจผิด ไม่เหมาะสม หรือสร้างความไม่พอใจได้ ดังนั้นแล้วนักแลปต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมของภาษาปลายทางและต้นทาง พร้อมทำความเข้าใจสำนวนและวลีเฉพาะของแต่ละภาษา หรือเพื่อความถูกต้องและชัดเจนเลยอาจจะขอคำแนะนำจากเจ้าของภาษาเลยก็ได้เช่นกัน5. แปลผิดความหมายการแปลผิดความหมายเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงานแปลและการสื่อสารที่ผิดพลาด หากนักแปลตีความต้นฉบับผิด หรือเลือกใช้คำที่ไม่ตรงกับบริบท ข้อความที่ได้อาจสื่อความหมายผิดไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สำหรับปัญหานี้มักพบในงานแปลด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ หรือการแพทย์ ที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง หากแปลผิด อาจทำให้เนื้อหาคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นการแปลเอกสารเฉพาะทาง ควรศึกษาคำศัพท์ที่ถูกต้อง หรือใช้พจนานุกรมเฉพาะด้านเพื่อให้แน่ใจว่าคำแปลถูกต้องที่สุด6. การพิมพ์ผิดและแปลตกหล่นแม้ว่าการพิมพ์ผิดหรือแปลตกหล่นอาจดูเหมือนเป็นข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นักแปลอาจจะแก้ไขได้ แต่ในความเป็นจริง ปัญหานี้สามารถส่งผลต่อ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของลูกค้า ที่มีต่องานนักแปลได้โดยตรง นอกจากนี้การพิมพ์ผิด หรือแปลตกหล่น อาจทำให้ความหมายของข้อความเปลี่ยนไปหรือเนื้อหางานแปลไม่ครบ และต้องเสียเวลาในการส่งแก้ไข ดังนั้นก่อนส่งมอบงานแปลทุกครั้ง นักแปลต้องทำการอ่านทบทวนทุกครั้ง เพื่อให้งานแปลมีความถูกต้องและครบถ้วนมากที่สุด7. ใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่ถูกต้องเครื่องหมายวรรคตอนอาจดูเหมือนเป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ในการเขียน แต่ในงานแปลภาษา การใช้วรรคตอนผิดที่ หรือขาดหายไป อาจส่งผลให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้อ่านตีความผิด หรือทำให้เนื้อหาอ่านยากขึ้น ดังนั้นนักแปลควรทำการศึกษาการใช้วรรคตอน และควรการอ่านทบทวนงานแปลเพื่อเช็กการจบประโยคหรือการแบ่งวรรคประโยคให้ถูกต้อง8. ใช้คำฟุ่มเฟือยการใช้คำฟุ่มเฟือยในการแปลภาษา หมายถึง การใช้คำเดิม ๆ ซ้ำกันมากเกินไป หรือการใช้คำที่ไม่จำเป็น จนทำให้ข้อความดูเยิ่นเย้อและอ่านยาก ปัญหานี้อาจเกิดจากการยึดติดกับคำในต้นฉบับมากเกินไป หรือขาดการปรับแต่งให้เหมาะสมกับโครงสร้างของภาษาปลายทาง ดังนั้นแล้วควรพิจารณาว่าคำใดสามารถตัดออกได้โดยไม่ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไป หากจำเป็นต้องใช้คำเดิมหลายครั้ง ควรหาคำพ้องความหมายที่เหมาะสมเพื่อให้เนื้อหาอ่านไหลลื่นขึ้นจะดีกว่า9. ไม่คำนึงถึงรูปแบบภาษาทางการและไม่เป็นทางการหากเลือกใช้ระดับภาษาที่ไม่เหมาะสมกับบริบทของงาน หรือไม่คำนึงถึงระดับภาษาว่าควรเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ อาจทำให้การสื่อสารผิดพลาด ภาษาดูไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อ่านได้ ดังนั้นแล้วควรวิเคราะห์ว่าเอกสารนั้นใช้ในสถานการณ์ใด เป็นทางการหรือไม่ และอีกวิธีคือสังเกตรูปแบบภาษาของต้นฉบับก่อนทำการแปล10.ไม่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งมอบงานการที่นักแปลไม่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งมอบงานเป็นข้อผิดพลาดที่นักแปลทุกคนควรระวังอย่างยิ่ง เพราะแม้จะเป็นนักแปลที่มีประสบการณ์ แต่ข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การสะกดคำผิด แปลตกหล่น หรือเว้นวรรคตอนผิด อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว หากไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด แน่นอนว่าข้อดีของการตรวจสอบความถูกต้องของงานแปลคือการที่เราได้ทบทวนงานแปลอีกครั้ง ดังนั้นแล้วนักแปลควรทำการอ่านทบทวนงานแปลอย่างน้อยหนึ่งรอบ เพื่อเป็นการ Double Checkหากสามารถหลีกเลี่ยง 10 ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงในการแปลภาษา เหล่านี้ได้ จะช่วยให้งานแปลมีคุณภาพสูง อ่านง่าย และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแปลเอกสารทางธุรกิจ เอกสารกฎหมาย เอกสารคู่มือ หรือเอกสารที่มีเนื้อหาทั่วไป การให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยให้งานแปลของคุณโดดเด่นและเป็นมืออาชีพมากขึ้น