แนวโน้มของ อาชีพนักแปลภาษา ในยุคดิจิทัล จะเป็นอย่างไร?
อาชีพนักแปล นั้นเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน หรือใน “ยุคดิจิทัล” เนื่องจากการเชื่อมต่อกันทางดิจิทัล เพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศมีความสำคัญและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในโซเชียลมีเดีย หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้คนมีการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าอดีต แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็มีพฤตกรรมในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเลยก็ว่าได้ เพราะเข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวก็สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คน และติดตามข่าวสารทั่วโลกได้แล้ว
การใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบันนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การการใช้เว็บบอร์ดและกระดานข่าวออนไลน์อย่างในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้คนทั่วโลก ทั้งด้านการศึกษา คมนาคม ตลอดจนการสร้างอาชีพ ดังนั้น อาชีพนักแปล มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเช่นกัน บทความนี้จึงจะกล่าวถึงแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับอาชีพนักแปลในยุคดิจิทัลว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เหมาะแก่ศึกษาต่อเพื่อประกอบเป็นอาชีพหรือไม่ มาดูกันเลย (บทความนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น)
แนวโน้มของ อาชีพนักแปลภาษา ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือช่วยแปลอัตโนมัติกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มมีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บทบาทของอาชีพนักแปลลดลงไปอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่ต้องการแปลภาษาสามารถใช้เทคโนโลยีในการช่วยแปลแทนการจ้างนักแปลนั่นเอง หรือแม้แต่นักแปลเอง อาจนำเครื่องมือมาใช้เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว แต่หากเอกสารใดที่ต้องได้รับการรับรองการแปลโดยสำนักงาน หรือบริษัทแปลภาษา นักแปลจะมีบทบาทในการตรวจสอบและปรับแก้ผลลัพธ์จากเครื่องมือช่วยแปลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและมีคุณภาพสูง
ข้อดี ของการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการช่วยแปล
- ความรวดเร็ว การใช้เครื่องมือในการช่วยแปลนั้น จะช่วยในเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอนาน ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งนักแปล และผู้ที่ต้องการแปลภาษาแบบเร่งด่วน
- ได้รับการแปลที่ถูกต้องในระดับพื้นฐาน เครื่องมือแปลอัตโนมัติจะมีความสามารถในการแปลคำ และประโยคพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง จะเหมาะสำหรับการแปลข้อความ หรือประโยคสนทนาระหว่างสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเปิดดิกชันนารีแปลทีละคำอีกต่อไป
- ความสะดวก เนื่องจากเครื่องมือแปลอัตโนมัติสามารถใช้งานได้ทันที ทั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ ทำให้สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายในทุกสถานการณ์
ข้อเสีย ของการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการช่วยแปล
- ข้อจำกัดในการแปลภาษาที่ซับซ้อน เนื่องจากงานบางประเภทมีการภาษาและสำนวนที่ใช้อาจมีความซับซ้อน เช่น นวนิยาย เกม บทความ ฯลฯ เครื่องมือช่วยแปลอาจจะไม่เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งมากนัก ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความแม่นยำลดลง และอาจก่อให้เกิดการสื่อสารแบบผิด ๆ ได้
- ข้อจำกัดทางภาษาที่ไม่ได้ถูกพัฒนา เครื่องมือแปลอัตโนมัติอาจมีข้อจำกัดในการแปลภาษาที่ไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างละเอียด ซึ่งอาจส่งผลให้ความแม่นยำในการแปลลดลง
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของนักแปลยังคงอยู่ เพราะข้อจำกัดของเครื่องมือแปลอัตโนมัติในเรื่องของการตีความ อาจทำให้ได้รับการแปลที่ไม่แม่นยำได้ นักแปลจึงต้องคอยตรวจสอบความถูกต้อง และสำนวนการแปลให้สละสลวยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ดังนั้น นักแปลมีโอกาสในการพัฒนาและปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของอาชีพนักแปลในยุคดิจิทัลได้
อาชีพนักแปล จะสามารถรับงานแปลประเภทใดได้บ้าง ในยุคดิจิทัล
แม้อาชีพนักแปลจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีไปบ้าง แต่งานแปลบางประเภทก็ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการแปลอยู่เช่นกัน เพื่อให้ตรงประเด็น ความหมายถูกต้องแม่นยำมากที่สุด แล้วจะมีงานประเภทใดบ้าง ที่ยังสร้างรายได้ให้กับนักแปลในยุคดิจิทัลได้ ยกตัวอย่างดังนี้
- การแปลเนื้อหาออนไลน์ ยุคดิจิทัลมีการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์มากขึ้น นักแปลจะมีโอกาสในการทำงานในการแปลเนื้อหาที่เผยแพร่ออนไลน์ เช่น การแปลเว็บไซต์ เนื้อหาสื่อสังคมออนไลน์ บทความบล็อก และอื่น ๆ
- การแปลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ในยุคดิจิทัลนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), รถยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicles), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) เป็นต้น การแปลเอกสารทางเทคนิคและการสื่อสารทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องใช้ความเข้าใจในด้านเทคนิคและคำศัพท์พิเศษ นักแปลที่สามารถรับผิดชอบในการแปลเนื้อหาเชิงเทคนิคเหล่านี้จะมีโอกาสทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้
- การแปลในสื่อสังคมออนไลน์ ในยุคดิจิทัลนี้ เนื้อหาทางสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและการติดต่อกันของผู้คน นักแปลสามารถมีบทบาทในการแปลและปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เช่น แปลโพสต์บนเครือข่ายสังคม แปลคอนเทนต์ทางการตลาดออนไลน์ และแปลเนื้อหาวิดีโอสั้นที่แชร์ในสื่อสังคม การทำงานในบทบาทนี้จะต้องมีความรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมในแต่ละประเทศหรือกลุ่มเป้าหมายด้วย เพื่อให้ได้งานแปลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ การแปลสื่อออนไลน์นั้นมีเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ เช่น วิดีโอ เพลง รายการทีวีและวิทยุผ่านอินเทอร์เน็ต สตรีมมิ่ง เนื้อหาเหล่านี้อาจต้องการบรรยายหรือซับไตเติ้ลในภาษาอื่นเพื่อให้เข้าใจได้กับผู้ชมหรือผู้ฟังในทุกมุมโลก นักแปลจะมีบทบาทในการแปลและปรับแต่งเนื้อหาเหล่านี้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นภาษาต่าง ๆ นั่นเอง
- การแปลและปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนออนไลน์ การเรียนออนไลน์กลายเป็นทางเลือกที่ยอดนิยมในการศึกษาและการพัฒนาตนเอง นักแปลสามารถมีบทบาทในการแปลและปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนออนไลน์เพื่อให้เข้าใจได้กับผู้เรียนที่ใช้ภาษาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการแปลคอร์สออนไลน์และเนื้อหาการฝึกอบรมทางออนไลน์ที่ต้องการบรรยายหรือซับไตเติ้ลในภาษาต่าง ๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากการคาดการณ์เท่านั้น ยอมรับเลยว่าในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากแบบนี้ ส่งผลกระทบไปหลายอาชีพไม่เพียงแค่ อาชีพนักแปล เท่านั้น โดยเฉพาะนักวาด นักเขียน นักออกแบบ เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบโดยตรงเลยเช่นกัน ดังนั้น การปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หมั่นฝึกฝนทักษะของตัวเองอยู่เสมอ และไม่ลืมที่จะเรียนรู้การใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
แล้วคุณล่ะ มีความคิดเห็นอย่างไรกับ แนวโน้มของ อาชีพนักแปลภาษา ในยุคดิจิทัล พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง?