ความหมายของการแปลโดยนักปราชญ์ของโลก
นักปราชญ์ด้านการแปลต่างให้ความหมายของการแปล ดังนี้:
1. จอห์น วายคลิฟ (John Wycliffe, 1330-1384) นักปราชญ์ชาวอังกฤษกล่าวว่า การแปลคือ การแปลประโยคให้ได้ความชัดเจน โดยใช้ภาษาของคนสามัญ
2.มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) นักปราชญ์ชาวเยอรมัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่าง ค.ศ. 1483-1546 กล่าวว่า การแปล คือการสามารถถ่ายทอดวิญญาณของต้นฉบับออกมาให้ได้และให้สามัญชนสามารถเข้าใจได้
3.เจ.พี. วิเนย์ และ เจ. แดนเบเนท (J.P. Vinay and J. Danbenet, 1960) กล่าวว่า การแปลเป็นการวิเคราะห์ความหมายของภาษา โดยพิจารณาจากหน้าที่ของคำและความหมายของคำตามแนวภาษาศาสตร์ (ทั้งนี้เป็นการริเริ่มแนวคิดที่ว่าการแปลเป็นศาสตร์หรือวิทยาการแปล Science of Translation)
4.ยูจีน เอ. ไนดา (Eugene A. Nida, 1964) ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีการแปลชาวอเมริกันกล่าวว่า การแปลมิใช่การถ่ายทอดความหมายของข้อความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องรักษารูปแบบของข้อความไว้ให้ดีตรงตามต้นฉบับ
5.ดานิกา เซเลสโกวิตซ์ (Danica Seleskovitck, 1986) ผู้เชี่ยวชาญการแปลและการสอนวิทยาการแปลชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแปลมี 3 อย่างที่ต้องคำนึงคือ ข้อความ ความหมายแฝง และการถ่ายทอดความหมายออกมาเป็นภาษาแปลตามธรรมชาติ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความหมายของการแปลที่นักปราชญ์ได้ให้ไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย สรุปได้ว่า การแปล คือ การถ่ายทอดข้อความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง โดยรักษารูปแบบ คุณค่าและความหมายในข้อความเดิมไว้อย่างครบถ้วน รวมทั้งความหมายแฝง ซึ่งได้แก่ ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ข้อความในภาษาต้นฉบับและภาษาแปลต้องมีนํ้าหนักเท่ากัน
บทความโดยนายจิรคุณ เลาเหมาะ (กรัลย์)
ลงวันที่ 26/1/2566
แหล่งอ้างอิง: ศาสตราจารย์ ดร. สิทธา พินิจภูวดล (2565). ความหมายและขอบเขตของการแปล. ในประมวลสาระชุดวิชา การแปลเพื่อการสื่อสาร (หน่วยที่ 15). นนทบุรี: มหาาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.