เคยได้ยินว่ามีปราชญ์นักการศึกษาชาวจีนท่านหนึ่งได้กล่าวทำนองว่า การแปลที่ดีต้องบรรลุถึงลักษณะสามอย่าง คือ 信,达,雅 (ซิ่น ต๋า หย่า) ซึ่งจะอธิบายไปแล้ว ในทัศนะของผู้เขียนตีความสามคำดังนี้
信 ซิ่น คือ เชื่อถือ การแปลที่ดีจะต้องถ่ายความได้อย่างที่เรียกว่า เชื่อถือได้ ว่าถูกต้อง ไม่บิดเบือนแบบอ่านแล้วเข้าใจไปอีกอย่าง
达 ต๋า คือ ถึง บรรลุถึง การแปลที่ดีก็ต้องแปลความให้ถ้วนทั่วทั่วถึง สารเดิมมีสิบเราก็ต้องแปลให้ถ่ายความได้สิบ
雅 หย่า คือ สง่างาม การแปลที่ดีต้องอ่านแล้วมีสำนวนภาษาที่ดี ใช้ถ้อยคำดี ดูมีชาติตระกูล ไม่ต่ำไม่หยาบ
ในทัศนะส่วนตัวแล้ว การที่เราจะต้องถึงซึ่งทั้งสามลักษณะหรือไม่นั้น น่าจะอยู่ที่เนื้อหาของข้อความที่แปลมากกว่า การจะทำได้ผู้แปลต้องชำนาญทั้งเรื่องการใช้ถ้อยคำ โครงสร้างประโยค ไปจนถึงธรรมเนียมนิยมในการสื่อสาร ในทั้งสองภาษา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากนี้ การทำงานแปลในสมัยนี้ ยังมีปัจจัยบังคับอีกอย่างคือ "เวลา" มีจำกัด ฉะนั้นต้อง "เร็ว" ด้วย
และการทำงานให้ทั้งดีด้วย เร็วด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำงานให้ได้ดี อยู่ที่ขนาดของงาน เวลา ทรัพยากร (ในที่นี้คือแรงงานของผู้แปล ความรู้ของผู้แปลด้วย เครื่องมือที่ใช้ เช่น กูเกิล (หาข้อมูลเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหางานแปล) พจนานุกรมออนไลน์ด้วย) มันสัมพันธ์กันเป็นรูปสามเหลี่ยม อย่างที่เรียกว่า triangle of project management ดังนี้
รูปจาก https://2008remodel.files.wordpress.com/2008/04/iron_triangle.gif
ฉะนั้นในยุคนี้งานแปลก็คือการทำงานโปรเจคต์อย่างหนึ่ง ซึ่งต้องคำนึงถึงเวลา ทรัพยากร เทียบกับขนาดของงาน ถ้าจะให้งานออกมาดี สามเหลี่ยมสวย ก็ต้องทำให้มุมต่างๆ สมดุลกัน ฉะนั้นการรับงานแปลก็ต้องประเมินขนาดของงานกับเวลาก่อน แล้วทรัพยากรเรามีแค่ไหน (เช่นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ความสามารถทางภาษาเรามีแค่ไหน เป็นต้น) ก่อนจะตัดสินใจรับหรือไม่รับงานนั้นๆ ซึ่งมันจะโยงไปอีกว่า เราจะเสนอราคาสำหรับงานนั้นๆ ที่เท่าไหร่ด้วย
รู้อย่างนี้แล้ว ก็ขอให้เข้าใจการทำงานของนักแปล และพยายามให้เวลานักแปลแต่เนิ่นๆ นะครับผม