บทที่ 10 การแปลสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่าง ๆ
การแปลสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่าง ๆ
สุภาษิตหรือคำพังเพย คือ ข้อความสั้น ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนหรือเตือนใจผู้อ่าน สุภาษิตหรือคำพังเพยในภาษาใดก็ตามมักสะท้อนวัฒนธรรมของเจ้าของภาษานั้น โดยแสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะนิสัย ความคิดอ่าน ตลอดจนรสนิยมต่าง ๆ ปัญหาก็คือ ถ้าผู้แปลไม่เข้าใจวัฒนธรรมตลอดจนเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ก็อาจแปลออกมาได้ไม่เป็นที่เข้าใจของผู้อ่าน
ส่วนสำนวน คือ ลักษณะข้อความที่มีความหมายแฝงอยู่ และเป็นปัญหาที่ยากกว่าการแปลคำศัพท์ธรรมดา เพราะผู้แปลไม่ทราบว่าข้อความนั้นเป็นสำนวน จึงแปลออกมาตรง ๆ หรือถึงทราบว่าเป็นสำนวนก็อาจไม่เข้าใจความหมายหรือเข้าใจแต่ไม่อาจแปลออกมาให้ผู้อ่านที่เป็นคนไทยเข้าใจได้ เช่น
He was soaking wet; he looked like a drowned rat.
มีผู้แปลว่า: เขาเปียกราวกับหนูตกน้ำ
ควรแปลว่า: เขาเปียกปอนมองดูเหมือนลูกหมาตกน้ำ
การแปลโดยปรับความหมายให้เทียบกับสำนวนไทยจะทำให้ผู้อ่านที่เป็นคนไทย เข้าใจสำนวนนี้ได้ดีขึ้น
วิธีแปล
1. ในการแปลสุภาษิตหรือคำพังเพย ถ้าสามารถเปรียบเทียบความหมายโดยใช้สุภาษิตหรือคำพังเพยของไทยในความหมายเดียวกันได้ก็ให้ใช้สุภาษิตไทย ถือว่าเป็นการแปลแบบเทียบเคียง ดังตัวอย่างที่ยกมาแล้ว
2. ถ้าไม่มีความสามารถแปลเทียบเคียงได้ ก็ให้แปลออกมาตรง ๆ แล้วอธิบายความหมายของสุภาษิตนั้นไว้ในวงเล็บ
3. ในการแปลสำนวน ถ้าสงสัยว่าเป็นสำนวนให้ตรวจสอบกับพจนานุกรมหรือเจ้าของภาษา ในการเปิดจากพจนานุกรมให้เปิดหาจากคำหลักของสำนวนนั้น เช่น to vanish into thin air ก็ให้หาจากคำว่า air นอกจากการหาความหมายที่ถูกต้องของสำนวนจากพจนานุกรมหรือเจ้าของภาษาแล้ว ควรพยายามแปลให้ฟังดูเป็นไทย ๆ ไม่ควรแปล ตรง ๆ ตามสำนวนเดิม
พจนานุกรมที่สามารถค้นหาความหมายของสำนวนได้มีหลายเล่ม ตัวอย่างเช่น
· รัชนี ซอโสตถิกุล. สำนวนอังกฤษและสำนวนไทยที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
· Dictionary of American Idioms. 2nd ed. New York: Barron’s, 1987.
· Longman Dictionary of English Idioms. London: Longman, 1979.
· NTC’s American Idioms Dictionary. Lincolnwood, Illinois: National Textbook, 1987.
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : http://swinwin2. blogspot.com/2008/09/blog-post_14. html